การดำรงชีวิต

วิถีชีวิต การตกเบ็ดของชาวญัฮกุร ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มสตรี เป็นกิจกรรมยามว่าง หรือเว้นพักจากการทำไร่ ทำสวน จะพากันชักชวน และเดินไปเป็นกลุ่ม

อาชีพ

1) อาชีพดั้งเดิม

สมัยก่อนด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่า ทำให้ญัฮกุรเป็นนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์อย่างมาก การล่าสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายญัฮกุร มักล่ากันในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน สาเหตุที่ล่าสัตว์กันในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถตามรอยสัตว์ได้ง่าย และยุงไม่ค่อยชุม นอนในป่าได้สบาย

ญัฮกุรไม่นิยมล่าสัตว์ในหน้าฝน เพราะเดินป่าลำบาก ยุงชุม และยังมีตะขาบ งู สัตว์มีพิษต่างๆ อีกด้วย ญัฮกุรมักไปล่าสัตว์และหาปลาในเขตป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพราะเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ชุกชุม สัตว์มักไปกินลูกไทรและผลไม้ เหมาะกับการซุ่มยิง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจะสามารถล่าสัตว์ได้ง่าย เพราะสัตว์จะมีแหล่งน้ำเหลือเพียงไม่กี่จุดทำให้ไปดักได้ง่ายขึ้น เวลาล่าสัตว์มาได้ นายพรานจะชำแหละเนื้อและชุมนุมกันบริเวณผาสุดแผ่นดินที่เขตป่าหินงาม ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555) เครื่องมือล่าสัตว์แบบดั้งเดิมที่ญัฮกุรใช้คือหน้าไม้ ปัจจุบันยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ชาวบ้านเล่าว่า เครื่องมือในการล่าสัตว์เปลี่ยนมาใช้ “ปืนเพลิง” เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ทำให้สามารถล่าสัตว์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น

นายประยูร มองทองหลาง และอีกหลายคนสรุปว่า “ในช่วงเดือน 3 (เดือนเมษายน) ชาวบ้านจะลงไปที่ลำสนธิ ไปหาปลา หาแย้ หาสะเดามากิน เพราะทางนี้ไม่มี แต่ตรงนั้นเป็นป่าดงดิบ ชาวบ้านจะไปเช้ากลับเย็น... และจะมีการขุดหัวเผือกมัน กล้วย” (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556) หลังจากนั้น จะเป็นช่วงฤดูการทำไร่ (ข้าว)

ปัจจุบันชาวบ้านแทบไม่ได้ล่าสัตว์หรือไม่มีการล่าสัตว์กันอีก เพราะสัตว์ป่ามีจำนวนลดลง เนื่องจากเมื่อ 40-50 ปีทีแล้วมีการทำสัมปทานป่าไม้ การบุกเบิกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และมีการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ทำให้ไม่สามารถล่าสัตว์ได้เหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชาวบ้านต้องหันไปซื้อเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ มากินแทน โดยชาวบ้านมักซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าในหมู่บ้าน ซึ่งร้านแรกที่เปิดคือร้านค้าของแม่ยายผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (สัมภาษณ์ นายสิทธิศักดิ์ ทองสะอาด, 2556) นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนที่เดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อได้รับค่านิยมจากในเมืองมา ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น แย้ “เพราะรู้สึกขยะแขยง” แม้ในใจจะรู้สึกว่ายังอยากล่าสัตว์อยู่ก็ตาม (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555)

2) การเพาะปลูกแบบดั้งเดิม

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานเป็นพื้นที่สูงทำให้การปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวไร่ (Dry rice) ญัฮกุรปลูกข้าวไร่ ด้วยวิธีการใช้ไม้แหลมสักลงดินเป็นหลุม แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป และรอให้น้ำฝนตกลงมา ปลูกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า นายเปลี่ยน เย็นจัตุรัส เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวหนึ่งจะปลูกประมาณ 3-5 ไร่ บางครอบครัวขยันจะปลูกข้าวมากกว่านี้ ไร่หนึ่งได้ข้าวประมาณ 2 เกวียน ถ้าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 4-7 คน ข้าวจะเกือบพอกินตลอดทั้งปี

ส่วนในแง่ของการปลูกข้าวนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ถ้าไม่มีการย้ายที่ ชาวบ้านจะเตรียมแปลงไร่ สับฟางข้าว จุดไฟ หอบกองฟางเป็นจุดๆ เพื่อเตรียมไร่ไว้สำหรับปลูกข้าว

แต่ถ้าต้องมีการทำแปลงไร่ใหม่ ชาวบ้านเล่าว่า เดือน 4 (มีนาคม) จะถางป่าดงดิบใหม่ เพื่อเตรียมไว้ทำไร่ โดยมีการจองป่าด้วยการทำไม้เป็นรูปกากบาทไว้ที่ต้นไม้ และไปนอน ต้องนอนฝันดี ถ้าฝันดีจึงจะถางไร่ เวลาถางจะถางป่าเป็นรูปวงกลม ไม่ทำแปลงเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละคนทำห่างๆ กัน จากนั้นจะย้ายไร่ประมาณ 3 ปีครั้ง ต้นไม้จะขึ้นป่าจะกลับมาอีกครั้ง จะกลายเป็นป่าดงดิบอีก ซึ่งแตกต่างจากรถไถ ต้องรอให้ต้นไม้ใหญ่ขึ้นก่อนจึงจะถาง สัตว์ป่าจะไม่สูญ

พอเดือน 5 จะเผาป่า คนเผาป่าต้องเป็นคนเดือนแข็งปีแข็ง หลักการโค่นต้นไม้คือ ให้ไม้ล้อมเข้ามาหาตรงกลางแล้วจุดตรงกลางทำให้ไฟไหม้เฉพาะตรงกลาง จะมีการกล่าวบอกให้สัตว์ มด แมลง งู ให้ออกจากไร่ คนจุดจะต้องบอกกล่าว ถ้าไร่ติดกันจะเผาพร้อมกัน ถ้าเผาคนเดียวกลัวจะลาม

เดือน 6 เริ่มต้นเพาะปลูกข้าว ใช้ไม้สักลงดิน แล้วหยอดเมล็ดข้าว เอาแรงกัน เริ่มไปนอนไร่ ช่วงนี้หาอึ่งและเก็บผลไม้ป่า ฝนเริ่มตก เด็ดหน่วย ผลของต้นลำดวน พวกหนุ่มสาวจะไปเด็ดกัน

เดือน 7 ดายหญ้าข้าวโดยใช้เสียมสับออกและเก็บออกไป ไม่ให้เมล็ดงอกได้อีก ทิ้งไว้ริมไร่ ส่วนริมไร่ปลูกพริก ถั่ว ฟักทอง มะเขือ แตงไทย แตงโม แตงกวา ข้าวฟ่าง และปลูกแซมไปกับข้าวมี ใบแมงลัก โหระพา ข่า ตะไคร้ ผักชีโบราณ แตงโมประมาณปลายเดือน 7 เก็บได้ ข้าวเริ่มออกเมล็ดและรวงหลังสุด

เดือน 8-9 ไปหาเห็ด ดูแลต้นข้าว พอเดือน 9-10 เริ่มกินข้าวโพดไร่ เผือกมันเทศเริ่มกินได้ เดือน 10-11 ข้าวไม่พอกิน เริ่มต้องหากลอย เดือน 12 เริ่มเก็บเกี่ยว ไปรูดข้าว (เฉพาะข้าวเหนียว) โดยการลงแขกเอาแรงกัน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556)

ถ้าพิจารณาจากรอบวัฏจักรการเพาะปลูกแล้ว จะเห็นได้ว่า โดยปกติข้าวมักปลูกไม่พอกิน โดยเฉพาะในช่วงปลายหน้าฝน ประมาณเดือนกันยายน ชาวบ้านไร่ต้องไปขุดหากลอยมากินผสมกับข้าว และไปเอาข้าวที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 1 วัน ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร บางครั้งชาวบ้านจะไปเอาข้าวที่อำเภอศรีเทพก็มีแต่น้อยมาก เพราะอยู่ไม่ห่างกัน (สัมภาษณ์ นายยัง ยี่จัตุรัส, 2555) นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทำให้ข้าวไม่ค่อยพอกิน เพราะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมักมีสัตว์ โดยเฉพาะลิง มาขโมยข้าวไปกินอยู่เสมอ (สัมภาษณ์ นางแถ่ว น้อยเสลา, 2555) เนื่องจากในสมัยก่อน ช่วงเวลาในการทำไร่ข้าวกินเวลาเกือบจะตลอดทั้งปี ในช่วงหน้าแล้งจึงเป็นช่วงเวลาของกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก เช่น การล่าสัตว์ การหีบน้ำอ้อย งานหัตถกรรม เช่น เครื่องจักสาน เป็นต้น

3) การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเพื่อการค้า (สมัยใหม่)

ผลจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาจากในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ภาคอีสานมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูก และการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรจากการปลูกพืชหลายชนิดในไร่เดียวกันไปสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากออกสู่ตลาด (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2546)

เมื่อชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามาในเขตของหมู่บ้านญัฮกุร เพื่อแสวงหาที่ทำกินและทำการเพาะปลูก ในเวลานั้น ญัฮกุรยังไม่รู้จักการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชอาหารหลักๆ ที่ปลูกกันจึงมีข้าวไร่และเดือย พืชอื่นเช่นอ้อยก็ปลูกแค่พอกินเท่านั้น นายวรรณชัย มูลมณี ชาวร้อยเอ็ดรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตบ้านไร่ เล่าให้ฟังว่า “มาอยู่ครั้งแรกเมื่อ 2511 เป็นคนร้อยเอ็ด เพราะญาติมาอยู่ที่นี่ จึงมา ตอนนั้นอยู่ ป.4 แล้วมาเรียน กศน.ต่อ คนต่างถิ่นตอนนั้นเป็นไข้มาเลเรียกันมาก คนดงไม่เป็น เขาปลูกไร่เดือย ข้าวโพด ข้าว มัน เผือก ยกกระต็อบอยู่... พอชาวไทยอีสานเข้ามาอยู่ก็เริ่มเข้ามาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าว ต่อมาปลูกข้าวโพด” (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556)

ผลคือทำให้ญัฮกุรเริ่มอยากมีเงินเหมือนกับชาวไทยอีสาน ญัฮกุรจึงเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การปลูกแบบไร่ผสมที่เคยทำกันตั้งแต่ดั้งเดิมก็ค่อยๆ หายไป ต่อมาตั้งแต่หลัง พ.ศ.2510 ชาวบ้านเริ่มบุกเบิกที่ดินกันมากขึ้น เพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ปอ ยาสูบ และมันสำปะหลัง สำหรับมันสำปะหลังเริ่มปลูกกันอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.2518 และเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2530-32 เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังราคาดีมาก ความจริงแล้วแรงผลักดันส่วนหนึ่งด้วยก็คือ ญัฮกุรมีความต้องการเงินมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งลูกเรียนหนังสือ ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์เพื่อขนพืชไร่ และยังมีแรงกระตุ้นจากการที่ในปี พ.ศ.2541 มีการตั้งโรงแป้งมันสำปะหลังขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ ทำให้สามารถป้อนผลผลิตเข้าโรงงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้นไปอีก (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556)