ประวัติศาสตร์ญัฮกุร

ประวัติศาสตร์

ญัฮกุร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครราชสีมา ญัฮกุรเป็นชื่อที่ชนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเอง

ญัฮกุร

คำว่า "ญัฮ" ในภาษานี้มีความหมายว่า "กลุ่มชน" และ "กุร" มีความหมายว่า "ภูเขา" กลุ่มชนนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น ชาวบน คนดง หรือละว้า (เฉพาะกลุ่มที่อยู่จังหวัดเพชรบูรณ์)

เนื่องจากชาวญัฮกุรอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สูง หรืออาจจะเป็นชื่อที่ได้มาจากการแปลชื่อที่ชาวญัฮกุรใช้เรียกตนเอง นอกจากนี้ชาวญัฮกุรบางกลุ่ม เช่น ที่บ้านน้ำลาด จังหวัดชัยภูมิ จะถูกเรียกว่า "ชาวดง" เพราะอยู่ในป่าดงลึกเข้าไปจากบริเวณที่คนไทยตั้งถิ่นฐานอยู่

ชาวญัฮกุรในปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานของไทย ดังนี้

      1. บริเวณภาคเหนือตอนล่างอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ มี 3 หมู่บ้านคือ
        • หมู่บ้านน้ำเลา ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองฯ
        • หมู่บ้านห้วยไคร้ ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองฯ
        • หมู่บ้านท่าด้วง ตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ฯ

2.บริเวณภาคอีสานอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา

ชาวญัฮกุรจังหวัดชัยภูมิอาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ เช่น

        • ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านวังอ้ายคง บ้านวังตาเทพ บ้านเทพอวยชัย
        • ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต บ้านเสลี่ยงทอง บ้านโคกสะอาด บ้านน้ำลาด
        • ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว บ้านสุขประเสริฐ์ บ้านซับมงคล บ้านบุ่งเวียน
        • ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว บ้านห้วยแย้ บ้านท่าโป่ง
        • ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า บ้านวังกำแพง บ้านหนองอ้อ
        • ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ บ้านหนองบัว บ้านหนองใหญ่ บ้านบุฉนวน

ชาวญัฮกุรในจังหวัดนครราชสีมา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ เช่น

        • ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย บ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านคลองสาริกา บ้านตะขบ
        • นอกจากนั้น ยังมีชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ประปรายใน อำเภอเทพารักษ์ และอำเภอครบุรี



ประวัติหมู่บ้าน

ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ผู้วิจัยได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ และบ้านวังอ้ายคง เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ห่างกันมาก มีเรื่องเล่าและตำนานต่างๆ พอควร และมีแหล่งโบราณคดีไม่ห่างจากหมู่บ้าน ผู้วิจัยพยายามลำดับอายุสมัยของหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นอำเภอที่มีญัฮกุรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด โดยการสัมภาษณ์ นางวุ้น เศรษฐจัตุรัส นางหนอน สีจัตุรัส ชาวบ้านวังอ้ายคง นายพนม จิตร์จำนง นายประยูร มองทองหลาง และนายสุวิทย์ วงษ์ศรี ชาวบ้านบ้านไร่ ดังนี้

หมู่บ้านรุ่นเก่า มีอายุเกิน 200 ปีหรือมากกว่านั้น ได้แก่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านวังตาเทพ บ้านวังแร่ (ร้างไปแล้ว) บ้านปรกใหญ่ และบ้านไร่

หมู่บ้านอายุระดับกลาง มีอายุประมาณ 100 ปีหรือมากกว่านั้น ได้แก่ บ้านโคกกระเบื้องไห บ้านถ้ำคาว บ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง บ้านเสลี่ยงทอง บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านน้ำลาด บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว และบ้านหนองบัวลาน

หมู่บ้านรุ่นใหม่หรือเพิ่งก่อตั้งมีอายุประมาณ 50 ปี หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ได้แก่ บ้านเทพอวยชัย บ้านซับมงคล บ้านนา และบ้านวังแร่

อย่างไรก็ตาม ค่าอายุข้างต้นยังขาดความแน่นอน เพราะมาจากความทรงจำ นอกจากนี้ สมัยก่อนญัฮกุรมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งถาวร หากมีคนเจ็บป่วยหรือตายจะย้ายหมู่บ้าน หรือหากมีการทำไร่เลื่อนลอยที่อยู่ห่างหมู่บ้านมากขึ้นก็จะย้ายหมู่บ้าน ดังนั้น จึงมีการตั้งหมู่บ้านซ้ำในพื้นที่เดิม ยากที่จะกำหนดอายุให้ชัดเจนได้โดยง่าย

ประวัติของหมู่บ้านที่ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดมี 3 หมู่บ้าน ดังนี้

1) ประวัติหมู่บ้านไร่

ก่อนหน้าปี พ.ศ.2491 ญัฮกุรที่บ้านไร่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านตรงช่องตับเต่า (ไม่มีชื่อหมู่บ้าน) โดยอยู่ใกล้กับป่าหินงาม ลักษณะพื้นที่ของช่องตับเต่าเป็นที่ราบบนเนินเขา และอยู่ใกล้กับลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะกับการเพาะปลูกและตั้งบ้านเรือน แต่ญัฮกุรไม่ได้ใช้น้ำจากลำห้วยเพื่อมาเพาะปลูกข้าว เพราะระบบการเพาะปลูกและการทำนาของญัฮกุรเป็นการเกษตรแบบ “ไร่เลื่อนลอย” (ชาวบ้านใช้คำว่าไร่เลื่อยลอย ไม่ใช่คำว่าไร่หมุนเวียน) ทำให้ใช้น้ำจากฝน (น้ำฟ้า) เป็นหลัก

นางอยู่ คูเกษตร วัย 70 ปี (พ.ศ. 2556) เล่าให้ฟังว่า ตนเคยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านที่ช่องตับเต่า แต่ต้องย้ายมาเมื่อตอนเด็กๆ ในวัยประมาณ 5 ขวบ เพราะโรคฝีดาษระบาด ชาวบ้านหลายคนรวมถึงนางอยู่ด้วย เชื่อว่าต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคฝีดาษนั้น เนื่องจากเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว หรือราวๆ ทศวรรษ 2480 มีเครื่องบินลำหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินมาแถบนั้น บินผ่านใกล้หมู่บ้าน หลังจากนั้นคนในหมู่บ้านก็เริ่มล้มป่วยด้วยโรคฝีดาษ ขึ้นตุ่มพุพองเต็มตัวไปหมด ในหมู่บ้านมีคนตายทุกวัน ทำให้ต้องย้ายหมู่บ้านหนีมาอยู่ที่บ้านไร่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเครื่องบินลำนั้นคงปล่อยสารเคมีบางอย่างลงมา จึงมักอธิบายว่าฝีดาษเกิดจากอาวุธเคมี (สัมภาษณ์ นางอยู่ คูเกษตร, 2556; นายเติม โย้จัตุรัส, 2556; นายยัง ยี่จัตุรัส, 2556)

เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านไร่นั้น มีบ้านอยู่ราว 10-20 กว่าหลังคาเรือน และมีบางคนที่ไปตั้งบ้านอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้าน ในสมัยนั้นชาวบ้านทำไร่ข้าว ปลูกเดือย และข้าวฟ่างหางกระรอก ชาวบ้านจากบ้านต่างๆ มารวมตัวกันที่บ้านไร่มากขึ้น เพราะพื้นที่บ้านไร่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยบริเวณหมู่บ้านอยู่ใกล้กับห้วยซับหวาย บ่อน้ำพระ และน้ำซับ และยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม คือทางเกวียนและช่องเขาที่สามารถติดต่อไปยังเขตลพบุรีได้ง่ายอีกด้วย (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)

ต่อมา ผลจากนโยบายส่งเสริมการบุกเบิกที่ดินเพื่อทำการเกษตรตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลัง พ.ศ.2500 ตรงกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เริ่มมีชาวไทยโคราชและชาวไทยอีสานอพยพเข้ามาในเขตอำเภอเทพสถิตมากขึ้น ด้วยความรู้สึกกลัวคนไทย ทำให้ญัฮกุรเข้ามารวมตัวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมากขึ้น จากเดิมที่อยู่กระจายกันเป็นหย่อมบ้านเล็กๆ (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)

จนเมื่อราว พ.ศ. 2510 เศษๆ มีชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามามากขึ้นอีก ญัฮกุรบางคนขายที่ดินให้คนไทยอีสานและไทยโคราชในราคาถูก และบางรายเอาที่ดินแลกกับวิทยุทรานซิสเตอร์ก็มี ชาวอีสานที่เข้ามาอยู่แรกๆ นั้น จะอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้านญัฮกุร แต่ไม่นาน เมื่อมีการแต่งงานกับญัฮกุร ก็เริ่มขยับขยาย ในช่วง พ.ศ. 2510 นั้นเองได้มีการตั้งศาลเจ้าพ่อขุนหมื่นขุนพลเป็นศูนย์รวมจิตใจขึ้น ซึ่งคนไทยอีสาน คนไทยโคราช และญัฮกุร ทั้งหมดให้การนับถือ นอกจากนี้ การเข้ามาของคนไทยทำให้ระบบเศรษฐกิจของญัฮกุรเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชไร่พืชสวน และเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตรา

2) ประวัติบ้านวังอ้ายคง และบ้านเทพอวยชัย

บ้านวังอ้ายคง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง มีทั้งญัฮกุรที่อยู่หมู่บ้านนี้มาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน และที่อพยพเข้ามาใหม่ บ้านวังอ้ายคงดั้งเดิมเรียกว่า “ดงกะอาง” ต่อมามีคนจากบ้านวังตาเทพอพยพเข้ามาบุกเบิกที่ทำกิน นางอิ้ง ชัยขุนทด อายุ 56 ปีเล่าว่า บ้านวังอ้ายคงตั้งมานานแล้วตั้งแต่นางอิ้งยังไม่เกิด ประมาณไม่เกิน 100 ปี เดิมนางอิ้งอยู่วังตาเทพ ปลูกข้าว ฝ้าย พริก ระหุง พืชทุกอย่างปลูกปนกัน ย้ายมาบ้านวังอ้ายคง เพราะไม่มีที่มีทาง อพยพมากันเป็นซุ้ม 30 กว่าคน พ่อแม่ของนางอิ้งเป็นคนบ้านวังอ้ายคง นามสกุลเดิมคือยืนจัตุรัส จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 คนในหมู่บ้านเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลูกปอ ข้าวโพด เดือย ข้าวฟ่าง จากนั้นก็เป็นมันสำปะหลัง และอ้อย แรกๆ มีรายได้ดีมาก บ้านหลังปัจจุบันที่เป็นบ้านไม้หลังใหญ่หลังแรก นางอิ้งเล่าให้ฟังว่าได้มาจากการปลูกปอ แต่ถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็เหนื่อยขึ้น เนื่องจากทุกอย่างแพงขึ้น สมัยก่อนหาอาหารเองได้ เดี๋ยวนี้จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเจ็บป่วยมากขึ้น แต่ก่อนไม่ค่อยป่วยไข้กัน (สัมภาษณ์ นางอิ้ง ชัยขุนทด, 2557)

ผู้วิจัยได้สอบถามนางวุ้น เศรษฐจัตุรัส อายุ 84 ปี ว่าบ้านวังอ้ายคงมีอายุเท่าไร นางวุ้นเล่าว่า พ่อแม่เป็นคนวังอ้ายคงตั้งแต่ต้น แสดงว่าหมู่บ้านต้องตั้งมานานเกิน 100 ปี แต่อาจย้ายมาจากบ้านวังตาเทพนานมากแล้ว เดิมบ้านวังอ้ายคงมีบ้านประมาณ 5-6 หลัง บ้านเดิมของนางวุ้นอยู่ตรงทางไปวังตาเทพ ย้ายมาจากวังตาเทพเพราะเรื่องทำมาหากิน คนวังตาเทพอยู่ที่นั่นมาดั้งเดิม ไม่ได้ย้ายมาจากไหน (สัมภาษณ์ นางวุ้น เศรษฐจัตุรัส, 2557)

3) ประวัติบ้านวังอ้ายโพธิ์

บ้านวังอ้ายโพธิ์ถือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง นายอ๊าด ยุมจัตุรัส อายุ 74 ปี (พ.ศ. 2558) เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่หมู่บ้านนี้มาตลอด บอกว่า ตาโพธิ์มาอยู่เป็นคนแรก ย้ายมาหลังเดียว ประมาณ 100 ปีมาแล้ว ตาโพธิ์ย้ายมาจากบ้านลวก แรกย้ายมา มาอยู่ใกล้หนองน้ำ (สัมภาษณ์ นายอ๊าด ยุมจัตุรัส, 2557) นางต่ำ วัดตะขบ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า “ตาโพธิ์ผู้ตั้งหมู่บ้าน เมียชื่อยายถุน ตาโพธิ์ย้ายมาเพราะห่าลงดำลงแดง ท้องร่วง สมัยก่อนคนหนุ่มคนสาวหรือเด็กตาย คนในหมู่บ้านก็จะย้ายบ้านกันเลย” นางต่ำเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วมีบ้านอยู่ 30 หลังคาเรือน ทั้งหมดเป็นบ้าน “คนดง” ต่อมาราว พ.ศ.2490-2500 หมู่บ้านวังอ้ายโพธิ์เริ่มมีคนไทยโคราชและอื่นๆ เข้ามาอยู่มากขึ้น เพราะถนนหนทางสะดวกขึ้น คนที่อพยพเข้ามาทั้งหมดมาจากบ้านเพชรและบ้านชวน เป็นคนไทยที่พูดสำเนียงโคราช “กลุ่มยายจันทร์ บ้านตะโก มาอยู่เป็นบ้านหลังแรก เป็นคนไทยจากบำเหน็จณรงค์มาอยู่แรกสุด ตอนนั้นอายุยาย 22 ปี พ.ศ. 2491 มีคนไทยกลุ่มแรกมาอยู่ เข้ามาอยู่ปลูกถั่วดิน หลังจากยายจันทร์มาอยู่ก็ย้ายมาเรื่อยๆ” (สัมภาษณ์ นางต่ำ วัดตะขบ, 2558) ด้วยเหตุนี้ คนบ้านวังอ้ายโพธิ์จึงมีเครือญาติอยู่ทางบ้านเพชรและบ้านชวน

คนบ้านวังอ้ายโพธิ์ที่เป็นญัฮกุร บางส่วนอพยพมาจากหมู่บ้านอื่นมารวมตัวกัน นางนง ชัยเพชร อายุ 77 ปี เล่าให้ฟังว่า “ยายเกิดที่ช่องตับเต่า (เป็นหมู่บ้าน) ย้ายมาบ้านวังอ้ายโพธิ์สัก 50 ปี ย้ายเพราะฝีดาษ ตอนนั้นยังจำความไม่ได้มาก ตอนที่เป็นฝีดาษนั้นออกร้อน ตาแดง ใช้เปลือกสงวนแช่เอาน้ำ เอาใบตองกล้วยปูนอน ใช้น้ำมนต์ดื่ม เป็นอยู่เป็นเดือนกว่าจะดีขึ้น ตอนนั้นคนตายกันเยอะมาก” (สัมภาษณ์ นางนง ชัยเพชร, 2558) สาเหตุที่ย้ายมาที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ไม่เป็นโรคฝีดาษ เหตุที่คนที่ช่องตับเต่าเป็นโรค เพราะพ่อของนางนง ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านได้เดินทางไปขายขี้ไต้ที่บ้านหนองบัวระเหว (นางนงเรียกบ้านหนองบัวระเหวว่า “เขตลาว”) นางนงเล่าว่า ไปพักที่วังแร่ เจ้าของบ้านที่ไปพักเป็นฝีดาษ จึงติดมา แต่ไม่ตาย เพราะดูแลตัวเองและร่างกายโดยกินต้นสงวนที่ถือว่าเป็นยาเย็น (สัมภาษณ์ นางนง ชัยเพชร, 2558)

นางต่ำ วัดตะขบ ได้เล่าประวัติของหมู่บ้านต่างๆ ว่า (แปลผ่านล่าม) “วังอ้ายโพธิ์ถือเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด เก่ากว่าบ้านไร่ บ้านไร่แตกออกมาจากช่องตับเต่า ช่องตับเต่าเคยเจอสตางค์แดงและเศษหม้อเศษไห บ้านปรกใหญ่เก่ากว่าวังอ้ายโพธิ์แต่กลุ่มญัฮกุรแตกแยกออกมาเพราะฝีดาษและไฟไหม้ แล้วกระจายไปทั่ว มีเรื่องเล่าว่ากระรอกขึ้นมาบนวัด พระตาย ไฟไหม้หมู่บ้าน บ้านจำลุ (โด่งจำลุ) คือบ้านเสลี่ยงทองมีคนญัฮกุรเอาต้นกุ้มไปปลูกที่ปรกใหญ่ บ้านน้ำลาดย้ายไปเรื่อยเดิมอยู่ข้างล่างย้ายหนีคนไทย เลยไปอยู่ใกล้ภูเขาไปเรื่อยๆ วังคลองคือบ้านสะพานหิน ปัจจุบันคือบ้านเดิมของคนน้ำลาด ดั้งเดิมเลยตำบลที่มีญัฮกุรได้แก่บ้านไร่ โป่งนก นายางกลัก บึงเวียน แล้วไปถึงอำเภอบ้านเขว้าอยู่ที่ตำบลชีบน” (สัมภาษณ์ นางต่ำ วัดตะขบ, 2558)


สรุป

จากข้อมูลประวัติหมู่บ้านทั้งสามแห่งคือบ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง และบ้านวังอ้ายโพธิ์ ทำให้เห็นได้ว่า ญัฮกุรมีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง โดยก่อนหน้าปี พ.ศ. 2480-90 เป็นการย้ายหมู่บ้านด้วยสาเหตุจากการที่มีคนตายและระบบการทำไร่ แต่ช่วงปี พ.ศ. 2480-2490 สาเหตุการย้ายเป็นผลมาจากโรคระบาดโดยเฉพาะโรคฝีดาษ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อมาจากคนที่บ้านหนองบัวระเหว อย่างไรก็ตาม ราว พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หมู่บ้านต่างๆ ของญัฮกุรไม่มีการเคลื่อนย้ายอีก สาเหตุเป็นเพราะที่ดินมีราคา และมีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้น