การแต่งกาย

การแต่งกาย :

ผู้หญิงญัฮกุรมีการแต่งกายที่สวยสะดุดตา ญัฮกุรไม่รู้จักการทอผ้า แต่สามารถตัดเย็บได้ สมัยก่อนจะซื้อผ้าย้อมครามสีน้ำเงินมาจากตลาด แล้วเอามาตัดเองเรียกว่าเสื้อคราม แต่ปัจจุบันนิยมสีเสื้อเป็นสีดำ แต่ชาวบ้านบางคนให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนก็มีการใช้สีดำด้วยเช่นกัน เมื่อตัดเสื้อเสร็จแล้วก็ใช้ด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว มาเดินเส้นรอบแขนและคอ โดยด้านหลังปักเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วปล่อยเส้นด้ายเป็นเส้นยาวๆ 3-4 เส้น ลายด้านหลังนี้เรียกว่า “ลายลูกยาง” เมื่อปักลายเสร็จจึงเย็บด้านข้างให้ติดกันเป็นตัวเสื้อ เรียกว่า “เสื้อพ็อก” หรือในภาษาไทยเรียกว่า “เสื้อเก๊าะ” ผู้หญิงบางคนจะห่มสไบผืนเล็กๆ ทับด้วย ลายปักสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านหลัง หรือ “ลายลูกยาง” นี้ เป็นลายที่มีความหมายต้องการสื่อถึงดอกของต้นยางที่ลอยไปตามลม เปรียบได้กับญัฮกุรที่ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากจากกันไปยังที่ต่างๆ ส่วนลายดอกไม้เล็กๆ ที่ปักตามชายเสื้อเป็นลายดอกมะเขือ

ส่วนผ้านุ่ง ซื้อมาเป็นผืนจากตลาด นิยมสีสดๆ เช่น สีแดง สีเขียว มีบ้างที่นุ่งสีม่วง วิธีการนุ่งก็จะนุ่งแบบมีชายพกด้านข้าง ถ้าเวลาจะไปวัดหรืองานพิธีต่างๆ ก็จะมีผ้าคล้องคออีกผืนหนึ่ง ทรงผมจะเกล้ามวย

เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ก็จะมีกำไลเงิน สร้อยคอเงิน และต่างหูที่ทำด้วยไม้ติดกระจกด้านหน้า หรือทำด้วยโลหะเช่นเงิน ปกติถ้าอยู่บ้านจะไม่ใส่ต่างหู ปล่อยให้เห็นเป็นรูกว้างๆ

ในสมัยก่อน ผู้ชายญัฮกุรจะนุ่งโจงกระเบน วิธีนุ่งมี 3 แบบ แบ่งตามวัย ถ้าเป็นคนหนุ่มจะนุ่งโจงกระเบน หางกระเบนจะต้องเรียวกริบ เรียกว่า “โจงกระเบนหางแย้” ถ้าแต่งงานมีลูกแล้ว หางกระเบนจะยานๆ เรียกว่า “โจงกระเบนหางช้าง” ส่วนคนแก่จะนุ่งโจงกระเบนลอยชาย สวมกับเสื้อคอป่านหรือม่อฮ่อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และความนิยมในเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เย็บเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมอีก จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ.2548 ด้วยแรงกระตุ้นจากมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จึงได้เริ่มมีกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร ที่บ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

การแต่งกายของเยาวชนชาวญัฮกุร ที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ